Cobalt ไม่ใช่ชื่อสี แต่ทำให้เกิดสี

Last updated: 8 ส.ค. 2566  |  161 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Cobalt ไม่ใช่ชื่อสี แต่ทำให้เกิดสี

ในไลฟ์สดรายการ “จ้าวแม่มุก” สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการกล่าวถึงคำว่า"สีโคบอลต์ (Cobalt)" ซึ่งพี่พรายเองอยากจะขยายความให้ลูกค้าได้เข้าใจมากขึ้นว่าจริงๆแล้วคำว่าโคบอลต์นั้นไม่ใช่ชื่อเรียกสีของไข่มุกนะครับ แต่พี่พรายก็ยังเห็นหลายๆ ท่าน หรือหลายๆ ที่ ที่จำหน่ายไข่มุก ยังมีความเข้าใจผิดอยู่มาก ในเรื่องของการใช้คำว่าโคบอลต์เรียกชื่อสีของไข่มุกที่มีสีเทา-น้ำเงิน ซึ่งผู้ขายอาจจะเรียกตามๆกันมาจากแหล่งที่ได้รับซื้อมา แต่แท้จริงแล้วโคบอลต์นั้นเป็นแร่กัมมันตภาพรังสีที่ใช้ในกระบวนการปรับปรุงคุณภาพสีของไข่มุก (Color-Treatment) ต่างหากครับ ดังนั้นหากลูกค้าได้ยินว่าไข่มุกสีโคบอลต์ จึงพออนุมานได้ว่าเป็นไข่มุกที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพสี(Treatment) มาครับ

อันที่จริงแล้วคำว่า Cobalt ที่พูดๆกันนั้น คือ โคบอลต์-60 (Cobalt - 60) ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสี (Radioactive Material) เป็นธาตุโลหะคล้ายเหล็ก มีเลขเชิงอะตอมเท่ากับ 27 ผลิตจากโคบอลต์-59 ซึ่งเป็นธาตุเสถียรที่มีอยู่ในธรรมชาติ แต่เมื่อจับยึดนิวตรอนไว้จะกลายเป็นโคบอลต์-60 ซึ่งเป็นไอโซโทป รังสีที่ให้ คือรังสีบีตาและรังสีแกมมา มีครึ่งชีวิต 5.3 ปี เนื่องจากสามารถผลิตได้ในปริมาณมากๆ ด้วยค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนัก จึงนิยมใช้อย่างแพร่หลายสำหรับเป็นต้นกำเนิดรังสีในการแพทย์ และการเกษตร โดยรังสีแกมมา (Gamma Ray) ที่ได้จากโคบอลต์-60 นั้นใช้ประโยชน์ในการฉายรังสีอาหาร (Food Irradiation) ซึ่งเป็นการถนอมอาหาร (Food Preservation) อีกวิธีหนึ่งครับ

คราวนี้แล้วเจ้า Cobalt - 60 เกี่ยวข้องอะไรกับไข่มุก คำตอบก็คือ รังสีแกมมา (Gamma Ray) ที่ได้จาก Cobalt - 60 นั้นถูกนำมาใช้ในกระบวนการปรับปรุงคุณภาพสีของไข่มุก (Treatment) โดยไข่มุกน้ำจืดหรือไข่มุกน้ำเค็มที่มีสีขาว หากผ่านการฉายรังสี (Irradiation) จะเปลี่ยนเป็นสีเทา-น้ำเงิน ถึงสีดำครับ

นี่จึงเป็นช่องทางให้เหล่าผู้ค้าไข่มุกที่ต้องการเพิ่มมูลค่าของไข่มุกที่มี โดยการเปลี่ยนสีของไข่มุก (น้ำจืดและไข่มุก Akoya) จากสีขาวให้เป็นเป็นสีเทา-น้ำเงิน-ดำ ซึ่งเป็นสีที่หายากกว่า และมีราคาสูงกว่านั่นเอง จากการทดลองของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน) ได้ทดลองนำไข่มุกน้ำจืดและมุกน้ำเค็มไปฉายรังสีแกมมาจาก Cobalt - 60 (Co-60) ในปริมาณต่าง ๆ กัน หลังการฉายรังสีพบว่าไข่มุกน้ำจืด ทุกเม็ดเปลี่ยนสีเป็นสีเทา โดยความเข้มของสีเปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณรังสีที่ใช้ ในขณะที่มุกน้ำเค็มมีการเปลี่ยนสี ที่ไม่แน่นอน หลังจากศึกษาโดยละเอียด ก็พบว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นภายในของแกนมุกโดยตรง ดังนั้นหากนำไป ตัดขวางก็จะพบว่ามีการเปลี่ยนสีโดยตลอด

สรุปการฉายรังสีมุกนั้น ก็เพื่อเปลี่ยนสีของแกนเม็ดบีดนิวเคลียส (ที่ทำมาจากเปลือกหอยน้ำจืด) ของไข่มุกจากสีขาวให้เป็นสีดำ ซึ่งจะทำให้สีของเม็ดมุกที่มองจากภายนอกดูเป็นสีเทา - น้ำเงินหรือสีเงิน ไข่มุกที่ผ่านการฉายรังสีจะเปลี่ยนสีของเม็ดบีดนิวเคลียสเท่านั้น คุณภาพด้านอื่นๆของไข่มุก เช่น ตำหนิบนเม็ดมุกจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการฉายรังสีทั้งสิ้น หรืออีกนัยหนึ่งไข่มุกคุณภาพต่ำจะยังคงเป็นไข่มุกคุณภาพต่ำอยู่ดีครับ (เปลี่ยนแค่สีของไข่มุก)

ไข่มุกฉายรังสีเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์หรือไม่?

สำหรับผู้บริโภคทั่วไป การสวมใส่ไข่มุกที่ผ่านการฉายรังสีจะไม่มีผลกระทบต่อร่างกายครับ เนื่องจากรังสีโคบอลต์-60 จะหายไปหลังจากหยุดกระบวนการฉายรังสี นอกจากนี้ โคบอลต์-60 ยังใช้กันอย่างแพร่หลายในการฆ่าเชื้อโรค และฆ่าเชื้อในอาหาร โดยสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อราได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับการพิจารณาว่าปลอดภัยจากองค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และหน่วยงานอื่นๆ อีกมากมาย

สีของไข่มุกที่ผ่านการฉายรังสีจะจางลงหรือไม่?

เมื่อเทียบกับสีเทา-น้ำเงินตามธรรมชาติ ไข่มุกฉาบรังสีจะมีความเสถียรของสีมากกว่าครับ เนื่องจากเม็ดบีดนิวเคลียสของไข่มุกเปลี่ยนเป็นสีดำ ดังนั้นจึงมีอัตราการจางหายค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับไข่มุกสีธรรมชาติ ไข่มุกอะโกย่าสีเทา-น้ำเงินตามธรรมชาตินั้น สีที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากองค์ประกอบของสารคัดหลั่งสีน้ำตาลที่แม่หอยหลั่งออกมา และสีของเม็ดบีดนิวเคลียสรวมทั้งสีของชั้นไข่มุก ที่ผสมผสานเข้ากันจนกลายเป็นสีของไข่มุก โดยสีของมุกธรรมชาติมีโอกาสจะจางลงได้เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ ครับ

แล้วทำไมเราไม่ฝังเม็ดบีดนิวเคลียสสีดำลงไปในแม่หอยในขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเสียเลย? นั้นก็เป็นเพราะว่าไข่มุกที่ฝังด้วยบีดนิวเคลียสสีดำนั้น จะไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นไข่มุกเลี้ยงตามธรรมชาตินั่นเองครับ ไข่มุกอะโกย่าที่มีสีเทา-น้ำเงิน-เงิน จะมีเฉพาะสีธรรมชาติและสีที่เกิดจากการปรับปรุงคุณภาพเท่านั้น โดยวิธีการปรับปรุงคุณภาพให้ไข่มุกอะโกย่าให้มีสีเทา - น้ำเงิน - สีเงินนั้น สามารถกระทำได้ 2 วิธีคือ

วิธีทางเคมีซึ่งเกี่ยวข้องกับการย้อมด้วยสีย้อและวิธีทางกายภาพซึ่งเกี่ยวข้องกับการฉายรังสีด้วยรังสีโคบอลต์-60 หรือที่เรียกว่าการฉายรังสีหรือการ “อบสี” นั่นเองหลังจากที่ไข่มุกได้รับการฉายรังสี นิวเคลียสของบีดนิวเคลียสจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ซึ่งทำให้สีภายนอกของเม็ดมุกจะปรากฏเป็นสีเทา-น้ำเงิน เนื่องจากการหักเหของแสงในชั้นเนเคอร์ของไข่มุกนั่นเอง ไข่มุก Madama, Blue rose และ Saiundama ของสถาบัน Pearl Science Laboratory (PSL) นั้นถูกกำหนดว่าจะต้องเป็นสีธรรมชาติที่ไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพของสีด้วยวิธีการใดๆ ทั้งสิ้น

วิธีที่เราจะแยกความแตกต่างระหว่างไข่มุกสีธรรมชาติ ออกจากไข่มุกที่ผ่านการฉายรังสีคือการตรวจสอบแกนของไข่มุก ไข่มุกธรรมชาติโดยทั่วไปจะมีแกนสีขาว ในขณะที่ไข่มุกที่ผ่านการฉายรังสีจะมีแกนสีดำ อีกวิธีหนึ่งคือการตรวจสอบรูเจาะ โดยการมองเข้าไปในเม็ดมุกผ่านรูเจาะ และสังเกตุสีของเม็ดบีดนิวเคลียสของไข่มุกว่าเป็นสีดำหรือไม่ หากแกนของไข่มุกเป็นสีดำก็สามารถจำแนกไข่มุกเม็ดนั้นว่าเป็นไข่มุกที่ผ่านการฉาบรังสี หรือที่เราเรียกว่า "อบสี" มานั่นเองครับ

เอาละครับ หวังว่าสาระน่ารู้ที่พี่พรายนำมาฝากในวันนี้จะถูกใจบรรดา Pearl Lovers ทั้งหลายของ PAKASIA นะครับ ถ้าเห็นว่าบทความนี้ดีมีประโยชน์ ช่วยกด Like กด Share ให้พี่พรายด้วยนะครับ ถ้าท่านมีข้อสงสัยประการใดสอบถามพี่พรายเข้ามาได้นะครับ ตามช่องทางดังนี้ครับ

Line id : @mookdee
Tel :  075-810-028
IG: pakasia_pearls
facebook: Pakasiaa Prime
www.pakasiapearl.com


ที่มา:

https://takaramonobr.com/blogs/pearl-education/how-to-tell-the-difference-a-guide-to-identifying-irradiated-pearls?_pos=1&_sid=2744123cf&_ss=r
http://nkc.tint.or.th/nkc53/content/nstkc53-043.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้